เพราะทันทีที่แค่เปิดหัวเรื่องว่าไทย-จีนจะมีการลงทุนรถไฟความเร็วสูงความเร็ว 200 กิโลเมตรกรณีวิ่งรับส่งผู้โดยสาร และความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงกรณีขนส่งสินค้า..
“เกมส์แย่งซีน” ทั้งหน้าฉากและหลังฉากเกิดขึ้นทันที ทั้งภายใน “พรรคประชาธิปัตย์” และนอกพรรค โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “ภูมิใจไทย”
เชื่อว่าเรื่องนี้คงสร้างความปวดหัวให้ “นายกฯอภิสิทธิ์” ไม่น้อย ด้วยเหตุที่ว่าไม่รู้จะมอบหมายโครงการนี้ให้ใครเป็น “เจ้าภาพ” จึงจะ “ดูดี” และ “เหมาะสม”ที่สุด
เริ่มที่ตัวเลือกในรัฐบาลจากพรรคเดียวกัน อาทิ “กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ” เลขาธิการนายกฯ ที่ครม.มีมติแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการศึกษารายละเอียด การร่วมทุนก่อสร้างโครงการพัฒนากิจการรถไฟไทย-จีน หรือจะเป็น “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกฯด้านความมั่นคง ที่ เป็นผู้เดินทางไปเยือนจีนและได้หารือกับจีนว่า สนใจที่จะลงทุนรถไฟความเร็วสูงในไทยหรือไม่ พูดไม่ทันจบฝ่ายจีนตอบตกลงทันที เพราะสนใจโครงการนี้มานานแล้ว…
(แวบมาเข้าถึงข้อมูลกันสักเล็กน้อย…) เนื่องจากการลงทุนเส้นหนองคาย-กรุงเทพ และเส้นกรุงเทพ-ระยอง จะเป็นการเปิดทางออกทะเลให้กับจีนอีกทางหนึ่ง จากที่ก่อนหน้านี้จีนได้ลงนามเอ็มโอยูกับลาวในการสร้างเส้นทางรถไฟเส้นทาง “คุนหมิง-เวียงจันทน์” ไปแล้ว
กลับมาที่รัฐบาลไทย มีรองนายกฯ อีกคนที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้ “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ ในฐานะ ประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูป แบบ PPPs ซึ่งได้กำหนดแผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูงภายใต้แผนร่วมลงทุนกับเอกชน ซึ่งครอบคลุมเส้นทางรถไฟ “กรุงเทพ-หนองคาย” และ “กรุงเทพ-ระยอง”
แน่นอนว่าโปรเจกท์ใหญ่แบบนี้ มีหรือที่พรรคภูมิใจไทยจะพลาด “โสภณ ซารัมย์” รมว.คมนาคม ทำหน้าที่คุมรัฐวิสาหกิจอย่าง “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากโครงการนี้จะไม่มีการเวนคืนที่ดินเพิ่ม แต่จะเช่าพื้นที่ของการรถไฟฯและวางรางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตรขนานไปกับรางขนาด 1 เมตรที่ลงทุนโดยการรถไฟฯ รวมถึงหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้โครงการ
หากโครงการนี้สำเร็จในกำมือของ “โสภณ” ถือเป็นผลงานชิ้น “โบว์แดง” ที่ “พรรคภูมิใจไทย” จะนำไปอวดแก่พี่น้องคนอีสานที่จะได้ใช้ “รถไฟความเร็วสูง” ก่อนใครในประเทศ
แค่คิดก็คงเรียกคะแนนเสียงให้พรรคได้ไม่น้อย โดยเฉพาะภาวะที่ “ภูมิใจไทย” มีความต้องการครองใจฐานเสียงชาวอีสาน แทนที่อดีตนายใหญ่คนเดิมอย่างที่สุด
โยงให้เห็นภาพ “ผู้เล่น” ที่จะเกี่ยวข้องกับการผลักดัน “บิ๊กโปรเจกท์” นี้พอสังเขป ยังไม่ก้าวล่วงไปถึงหน่วยงานจัดหา “แหล่งเงิน” อย่าง กระทรวงการคลังที่มี “ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์” รมช.คลัง ในฐานะอนุกรรมการ PPPs เข้ามามีเอี่ยวด้วย
โบราณท่านว่าไว้อย่างไรไม่ผิด “มากคนก็มากความ” นอกจากการให้สัมภาษณ์ซัดกันไปมาระหว่างแต่ละคนแล้ว ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ก็มีเหตุฉุกละหุกเล็กน้อยเกี่ยวกับประเด็น “เจ้าภาพ” ในการเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุม
และนั่นเป็นที่มาของ “ข้อความตัดพ้อ” จาก “เลขาฯ นายกฯ” บนทวิตเตอร์ ดังนี้ “กระทรวงคมนาคมขอเรื่องรถไฟไทย-จีนไปดู ก่อนให้ ครม.พิจารณา วันนี้เลยฟาวล์ไป เมื่อไหร่เข้าครม.เป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมจากนี้ไป”
โปรด อย่าลืมว่า…ทั้งหลายทั้งปวงที่กำลังหารือกันอยู่นี้ เป็นปฐมบทแห่งการเริ่มต้นมีรถไฟความเร็วสูงใช้ในประเทศไทย ดังนั้นคงไม่ดีแน่ ถ้าหากนักการเมืองมัวตั้งประเด็นเล่นแง่กันไปมา เพียงเพราะไม่ต้องการ “เสียหน้า”
เพราะที่น่าเป็นกังวลกว่านั้นมาก คือ ความ “เสียหาย” หากจะเกิดขึ้นกับกรณีนี้ในอนาคต ไม่ว่าจะทางใด ผลลัพธ์ตกอยู่กับคนไทยทั้งประเทศ!!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น